IoT อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง !
6:00 คุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้าด้วยเสียงนาฬิกาปลุก และเครื่องเสียงเริ่มเล่นเพลงโปรดโดยอัตโนมัติ พร้อมกับที่สมาร์ทโฟนแสดงตารางงานวันนี้ของคุณ
6:05 คุณกำลังอาบน้ำ ในขณะที่เครื่องทำน้ำอุ่นเตรียมน้ำในอุณหภูมิที่พอเหมาะที่จะทำให้คุณตื่นเต็มตา
6:10 คุณกำลังแต่งตัว ด้วยชุดเสื้อเชิ้ต กางเกง เนคไท และรองเท้าที่ถูกจับคู่สีไว้ให้เรียบร้อย พร้อมรายงานข้อมูลสุขภาพ น้ำหนักตัว ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจจากนาฬิกาข้อมือ ในขณะที่เครื่องชงกาแฟและเครื่องปิ้งขนมปังเริ่มทำงาน ตู้เย็นก็แสดงตัวเลขของสดคงเหลือเพื่อที่คุณจะแวะซื้อหลังเลิกงาน
6:15 เครื่องเสียงหยุดเล่นเพลง คุณเดินมาที่โต๊ะเพื่อทานอาหาร พร้อมกันกับที่ทีวีเริ่มฉายรายการข่าวเช้า
6:30 เครื่องล้างจานในครัวกำลังทำงาน ในขณะที่คุณกำลังก้าวออกจากบ้าน โดยไม่ต้องปิดไฟ, เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่ล็อคประตู !

ภาพจาก http://wwwen.zte.com.cn/

ภาพจาก www.inofthings.com
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ I-Robot ของ ไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov) หรือ ภาพยนตร์ Sci-Fi อย่าง A.I. Artificial Intelligence แต่อย่างใด แต่นี่คือ ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากชีวิตประจำวันที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตข้างหน้า ภายใต้แนวคิดที่เราเรียกว่า IoT ซึ่งกลายมาเป็น วลีเดียวที่ครอบคลุมทุกเทคโนโลยีการสื่อสารรอบๆ ตัวเรา และในทุกๆ วัตถุสิ่งของที่เราจับต้องได้ ด้วยความพอเหมาะพอเจาะอันเกิดขึ้นจากการวิวัฒน์ของเทคโนโลยีมาจนถึงระดับที่ทำให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นมีขนาดเล็ก มีความสามารถสูง, มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง และมีคำนำหน้าชื่อว่า Smart หรือ อัจฉริยะ เช่น Smart Phone, Smart Car , Smart Watch เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ เราคุ้นเคยกับการป้อนคำสั่งลงในอุปกรณ์เพื่อให้อุปกรณ์ใดๆ ก็ตามทำงานสนองตอบในสิ่งที่เราต้องการ (Human-to-Machine) แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับเทคโนโลยี IoT คือ การนำเทคโนโลยีเครือข่ายมาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ 2 อุปกรณ์หรือมากกว่า เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสื่อสารและทำงานร่วมกันโดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้ามาสั่งการ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายคือ การใส่สมองซึ่งประกอบด้วยหน่วยความจำ+หน่วยประมวลผล(เป็นอย่างน้อย)ให้กับอุปกรณ์ จากนั้นทำให้แต่ละอุปกรณ์เชื่อมต่อกันและสื่อสารด้วยภาษาเดียวกันนั่นเอง
การเชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างอุปกรณ์เหล่านี้ ประกอบด้วย RFID (Radio Frequency Identification) และ Sensors เพื่อใช้ตรวจวัด อ่านค่า ประมวลผลและลงมือปฏิบัติ ซึ่งที่อุปกรณ์ทุกชิ้นรอบๆ ตัวเรา จะถูกติดตั้งป้ายอิเล็กทรอนิคส์เพื่อระบุข้อมูล วัตถุประสงค์ วิธีการใช้งาน และรายละเอียดอื่นๆ โดยมีเครื่องที่สามารถอ่านข้อมูลเหล่านั้นกระจายอยู่ในทุกที่และจะทำการประมวลผลต่อเพื่อการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ใดๆ ที่ถูกออกแบบขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการบริหารงานและกิจกรรมต่างๆ เช่น การบริหารคลังสินค้า, การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม, การรักษาความปลอดภัย, การบริหารงานจราจร, การตรวจจับวัตถุต้องสงสัยในสถานที่สาธารณะ เป็นต้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากระบบนิเวศ IoT เหล่านี้ คือ ปริมาณข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มหาศาล (Big Data) ทั้งจากตัวอุปกรณ์เองและจากการสื่อสารโต้ตอบกันระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการพึ่งพาระบบอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพก็จะสูงขึ้นเป็นทวีคูณด้วย
ซึ่งอ้างอิงจากรายงานของ Gartner ผู้นำทาง ด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก ระบุว่าภายในอีก 4 ปีข้างหน้า (ปี 2020) อุปกรณ์ต่างๆ กว่า 25,000 ล้านเครื่องจะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อันเป็นการใช้เทคโนโลยีในวงกว้างและแพร่หลาย ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันอย่างยิ่งยวด ทั้งการสื่อสาร, การศึกษา, การคมนาคมขนส่ง รวมถึงภาคธุรกิจการผลิตและบริการที่ต้องปรับตัวต่อกระแส IoT
10 อันดับความนิยมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT

ภาพจาก https://iot-analytics.com/10-internet-of-things-applications/
สำหรับประเทศไทยเอง ก็ตอบรับกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Thailand ด้วย Digital Economy เช่นกัน โดยนับเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามผลักดันในการนำเทคโนโลยีสารสารเทศมาใช้ในด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น จัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์, การบริหารงานในหน่วยงานต่างๆ , การควบคุมการจราจร และ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการรูปแบบต่างๆ แก่ประชาชน เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันและการยืนหยัดอย่างเข้มแข็งในเวทีโลกให้ได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อมนุษย์ในแง่ของสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัย ยังเป็นที่ถกเถียงด้วยเหตุที่ สถิติอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า IoT ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันส่วนบุคคลมากนักก็ตาม เนื่องจากภัยคุกคามจากอาชญากรไซเบอร์ ที่เรียกว่า แฮกเกอร์ (Hacker) ผู้หาช่องว่างและจุดอ่อนของระบบและหาประโยชน์จากข้อมูลที่ฉกฉวยมา โดยเฉพาะแนวโน้มความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นในการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาในที่ทำงาน หรือที่เรียกว่า BYOD (Bring your own device)

ภาพจาก http://secude.com/blog/whats-at-risk-with-byod-biggest-threats-to-mobile-devices/
ประกอบกับ การที่ผู้บริโภคจำนวนมาก ยังวางใจในมาตรฐานความปลอดภัย เช่น UL , Triple DES และ ONVIF เพื่อให้ระบบของพวกเขาปลอดภัยซึ่งในขณะเดียวกัน มันกับส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะการสร้าง มาตรฐานเหล่านี้ ต้องใช้ระยะเวลาร่วมปีหรือสองปี ซึ่งในทางกลับกันสำหรับ อาชญากรไซเบอร์ เองก็มีเวลาในการสร้างวิธีการโจมตีใหม่ๆ และค้นหาจุดอ่อนของระบบอย่างต่อเนื่องภายใต้การกำกับของมาตรฐานเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับองค์กรที่นำเทคโนโลยี IoT นี้มาประยุกต์ใช้ ในการวางนโยบายการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและกำกับดูแลให้รัดกุมเพื่อปกป้ององค์กรและพนักงานด้วย

ภาพจาก http:// culturedigitally.org
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://en.wikipedia.org/wiki/I,_Robot
http://www.imdb.com/title/tt0212720/
http://www.gartner.com/newsroom/id/3165317
http://www.asmag.com/showpost/20513.aspx
เผย 10 แนวโน้มรัฐบาลดิจิทัล หลังรัฐบาลรุกหนักดิจิทัลอีโคโนมี
IoT – Internet of Things คืออะไร และมันสำคัญยังไงกับนักการตลาด?
https://www.ega.or.th/th/index.php
http://www2.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000131420